16 มกราคม 2568

โลจิสติกส์คืออะไร ? ระบบที่ดีเป็นแบบไหน ? เช็กได้ด้วยหลักการ 7Rs

ภาพมุมสูงรถคอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า BevChain จอดหน้าศูนย์กระจายสินค้าของบุญรอดซัพพลายเชน (Boon Rawd Supply Chain) โลจิสติกส์คืออะไร

เนื่องจากโลจิสติกส์ (Logistics) เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมงานหลายส่วนในธุรกิจ ตั้งแต่การจัดซื้อ การจัดการสินค้าคงคลัง การกระจายคลังสินค้า การขนส่ง ฯลฯ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลที่ดีต่อประสบการณ์ลูกค้า

เพื่อการบริหารโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ BRS ขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจว่าการจัดการระบบโลจิสจิกส์ได้ดีจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจบ้าง และหน้าตาของ 'โลจิสติกส์ที่ดี' คือแบบไหน ผ่านหลัก 7Rs ครับ

Logistics (โลจิสติกส์) คืออะไร ? เกี่ยวข้องกับกระบวนการใดในธุรกิจบ้าง

1. การขนส่ง (Transportation)

การขนส่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในระบบโลจิสติกส์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าไปยังผู้บริโภคเท่านั้น แต่ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งเพื่อนำวัตถุดิบไปผ่านกระบวนการผลิตที่โรงงาน และนำสินค้าที่ได้จากโรงงานไปที่คลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า แล้วส่งต่อไปยังร้านค้าจนถึงมือผู้บริโภค โดยแต่ละขั้นตอนต้องเลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ทางถนน ทางเรือ ทางอากาศ ทางท่อ ทางราง ซึ่งจะเลือกวิธีการจัดส่งโดยขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและระยะทางจัดส่ง รวมถึงต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะไปถึงจุดหมายในสภาพที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ

หากธุรกิจสามารถวางแผนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าและเกิดความพึงพอใจจากประสบการณ์การขนส่งที่ดีได้มากกว่า

2. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)

การจัดการสินค้าคงคลังเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและบริหารปริมาณสินค้าคงคลังให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดอยู่เสมอในทุกสถานการณ์ ทั้งในช่วงโปรโมชัน ช่วงเทศกาล หรือช่วงที่มีภัยธรรมชาติ ซึ่งหากธุรกิจสามารถบริหารสินค้าคงคลังได้มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจสามารถป้องกันปัญหาสินค้าขาดแคลนและส่งมอบสินค้าได้ทันกับความต้องการแล้ว ยังช่วยลดความสูญเสียจากสินค้าค้างสต็อกได้ด้วย

3. การจัดเก็บและคลังสินค้า (Warehousing and Storage)

คลังสินค้าคือพื้นที่สำหรับจัดเก็บสินค้าก่อนที่จะถูกจัดส่งไปยังผู้บริโภค โดยการจัดการคลังสินค้าที่ดี มีการจัดเก็บเป็นระเบียบ และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อทั้งสินค้าและพนักงาน จะช่วยลดโอกาสเกิดความเสียหายในการสต็อกสินค้าเพิ่มหรือหยิบสินค้าออก ซึ่งคลังสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะคลังที่จัดเก็บสินค้าที่มีอายุขัยจะต้องบริหารการจัดเก็บสินค้าโดยคำนึงถึงวันผลิต วันเข้าจัดเก็บ และวันหมดอายุเป็นสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดของเสียในคลังและทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่นกระบวนการโลจิสติกส์หยุดชะงักหรือมีสัตว์รบกวนต่าง ๆ ในคลังสินค้า

4. การจัดการคำสั่งซื้อ (Order Fulfillment)

กระบวนการจัดการคำสั่งซื้อเป็นขั้นตอนที่เริ่มตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า แล้วนำสินค้าที่ลูกค้าต้องการมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าอย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงเวลา ซึ่งการจัดการคำสั่งซื้อที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มระดับความพึงพอใจของลูกค้าและเพิ่มโอกาสกลับมาซื้อหรือใช้บริการซ้ำได้ในอนาคต

5. เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ (Technology and Information Systems)

ธุรกิจในยุคที่ความแม่นยำและความรวดเร็วคือคุณสมบัติสำคัญ การรู้จักนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจะช่วยเพิ่มอัตราความถูกต้องของการส่งมอบสินค้าผ่านการติดตามคำสั่งซื้อและสินค้า เช่น การใช้ระบบ GPS ติดตามรถขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยให้ทั้งธุรกิจและลูกค้าทราบสถานะการจัดส่งสินค้าได้แบบเรียลไทม์ หรือจะใช้ระบบกล้องติดรถ Mobile DVR ช่วยควบคุมมาตรฐานการทำงาน ลดความเสียหายจากการจัดการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เป็นต้น

6. การบริหารห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชน (Supply Chain Management)

อย่างไรก็ตาม การมีกระบวนการโลจิสติกส์ที่ดียังสอดคล้องกับการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพแหล่งที่มาของสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรของธุรกิจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบสินค้าและบริการหลังการขายด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และมีคุณภาพ

7. การควบคุมต้นทุน (Cost Management)

ความสามารถในการควบคุมต้นทุนเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการโลจิสติกส์ เพราะการบริหารค่าใช้จ่ายและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลดการจัดเก็บสินค้ามากเกินความจำเป็นไปพร้อมกับการควบคุมปริมาณสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ หรือการวางแผนเส้นทางรถขนส่งที่รอบคอบรัดกุม ล้วนมีผลกับความคุ้มค่าของธุรกิจโดยตรง

พนักงานจด SKU สินค้าน้ำดื่มในศูนย์กระจายสินค้าของบุญรอดซัพพลายเชน (Boon Rawd Supply Chain) หรือ BRS
พนักงานจด SKU สินค้าน้ำดื่มในศูนย์กระจายสินค้าของบุญรอดซัพพลายเชน (Boon Rawd Supply Chain) หรือ BRS

จะเห็นว่ากระบวนการโลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและดำเนินงานในหลายส่วนของธุรกิจ การจัดการโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ... แล้ว ‘โลจิสติกส์ที่ดี’ เป็นแบบไหน ? ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจของคุณตอนนี้มีประสิทธิภาพมากพอรึยัง สามารถเช็กได้ด้วยหลักการจัดการโลจิสติกส์ 7Rs ดังนี้

7Rs หลักการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ทุกธุรกิจควรรู้

1. สินค้าที่ถูกต้อง (Right Product)

ธุรกิจควรคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง โดยทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้าว่าสินค้าเราเป็นแบบนี้ ควรขนส่งยังไง การออกแบบสินค้าที่มีมาตรฐานและสนับสนุนขั้นตอนอื่น ๆ ในโลจิสติกส์จะช่วยให้การบรรจุ การจัดเก็บ และการขนส่งง่ายขึ้น

2. ราคาที่เหมาะสม (Right Price)

การกำหนดราคาที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดกำไรหรือขาดทุนของธุรกิจ ควรศึกษาตลาดเพื่อกำหนดราคาที่แข่งขันได้ พร้อมติดตามต้นทุน รายรับ และค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยอาจจะใช้ระบบที่สามารถบันทึกและอัปเดตตัวเลขต่าง ๆ เพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

3. ปริมาณที่ถูกต้อง (Right Quantity)

การส่งมอบสินค้าในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ โดยธุรกิจควรมีการประสานงานทีมการผลิตและทีมส่งมอบเพื่อผลิตและจัดส่งสินค้าในปริมาณเดียวกับความต้องการ และควรรู้ว่าปลายทางสามารถเก็บหรือวางสินค้าได้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดการขนส่งซ้ำซ้อนซึ่งกระทบกับต้นทุนธุรกิจ

4. สภาพที่ถูกต้อง (Right Condition)

การจัดการและรักษาสภาพสินค้าให้คงอยู่ในคุณภาพที่เหมาะสมจนถึงมือลูกค้าเป็นหน้าที่สำคัญของทีมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การจัดเก็บและส่งมอบสินค้าควรทำอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าโดยไม่เพิ่มต้นทุนมากเกินไป

5. เวลาที่ถูกต้อง (Right Time)

หากส่งสินค้าล่าช้า อาจทำให้ธุรกิจเสียโอกาสให้กับคู่แข่ง การส่งมอบสินค้าตรงเวลาช่วยสร้างความพึงพอใจและความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า จึงควรพัฒนาระบบติดตามและประสานงานกับทีมจัดส่งเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะส่งถึงมือลูกค้าตรงเวลา

6. ขนส่งถึงลูกค้าที่ถูกต้อง (Right Customer)

เมื่อเรามีการจัดการโลจิสติกส์อย่างดีเยี่ยม แต่ดันจัดส่งสินค้าไปยังผู้รับที่ไม่ถูกต้องก็ถือว่าล้มเหลว ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับความแม่นยำในการจัดส่งทั้งเรื่องโลเคชั่น เวลา และคุณภาพ โดยต้องมีความเข้าใจลูกค้าเป็นพื้นฐานในการให้บริการ

7. สถานที่ที่ถูกต้อง (Right Place)

เพื่อการส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ที่ถูกต้อง ธุรกิจสามารถใช้ระบบติดตามตำแหน่งเพื่อช่วยให้ลูกค้าและผู้จัดส่งทราบสถานะของสินค้าว่าถูกจัดส่งในพิกัดที่ถูกต้อง รวมถึงการวิจัยตลาดจะช่วยระบุพื้นที่ที่มีความต้องการสินค้าสูง และสามารถวางแผนการจัดส่งสินค้าที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้โดยไม่ขาดหรือเกิน

BRS ให้บริการโลจิสติกส์แก่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงบริการขนส่งสินค้า E-commerce และบริการโลจิสติกส์สำหรับสินค้าที่ต้องการความเชี่ยวชาญและมีความปลอดภัยสูงด้วยระบบบริหารคลังสินค้า การขนส่ง และเทคโนโลยีมาตรฐานระดับสากล สามารถจัดส่งถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว

“BRS เราเป็นให้คุณมากกว่าแค่ Supply Chain Solutions Provider”

สนใจติดต่อสินค้า/บริการ ได้ที่ brs-group.com

Tel: 1439

#สปีดได้ไวสเกลได้ไกล #BRS #BoonRawdSupplyChain #TotalSupplyChainSolutions #Empoweryourbusiness #LogisticsSolutions #LogisticsManagement #SupplyChainManagement #WarehouseManagement #7Rs

พนักงานหน้าศูนย์กระจายสินค้าของบุญรอดซัพพลายเชน (Boon Rawd Supply Chain) หน้ารถขนส่ง BRS
พนักงานหน้าศูนย์กระจายสินค้าของบุญรอดซัพพลายเชน (Boon Rawd Supply Chain) หน้ารถขนส่ง BRS

เพิ่มเติมเกี่ยวกับ บทความ